ตามสถิติทั่วโลกมีเด็กปัญญาเลิศ (Gifted) หรือเด็กที่มีความสามารถพิเศษประมาณร้อยละ 5 ของเด็กนักเรียนทั้งหมด ซึ่งเด็กปัญญาเลิศมักมีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากเด็กปกติทั่วไปที่อยู่ในวัยเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด
ลักษณะพฤติกรรมโดยทั่วไปของเด็กปัญญาเลิศที่จะเป็นข้อสังเกตสำหรับครู คือ
- สามารถเรียนรู้ที่จะอ่านได้ตั้งแต่อายุยังน้อย มีความเข้าใจในเรื่องภาษาได้ดีกว่าเด็กวัยเดียวกัน
- มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถที่จะคิดสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง และมีความคิดที่แตกต่างไปจากคนอื่นๆ
- สามารถคิดหาทางออกหรือทางแก้ปัญหาที่แตกต่างไปจากคนอื่น
- สามารถคิดเชื่อมโยงสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันให้สามารถเกี่ยวข้องกันได้
- มีความสุขที่จะเรียนรู้การแก้ปัญหา
- เป็นเด็กช่างสงสัย ชอบถามโน่นถามนี่อยู่ตลอดเวลาคำถามมักเป็นคำถามในลักษณะที่ต้องการคำอธิบายว่า ทำไม อย่างไร
- มีความคิดแปลกๆ ใหม่ๆ เริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ด้วยตนเอง ไม่ตามแบบอย่างคนอื่น
- ค่อนข้างไวต่อความรู้สึกของคนอื่น สามารถอ่านคนอื่นออก โดยไม่ต้องใช้ภาษาพูด
- ชอบแสดงความคิดเห็น
- สามารถปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงได้
- อาจมีความสามารถพิเศษบางอย่าง เช่น ด้านดนตรี กีฬา เป็นต้น
ในความคิดของพ่อแม่ เด็กปัญญาเลิศมีความสามารถขนาดนี้ ไม่น่าจะมีปัญหาในการเรียน แต่จริงๆ แล้วอาจมีปัญหาการเรียนได้มาก เนื่องจากสิ่งแวดล้อม การเรียนรู้ และเทคนิคการสอน อาจจะไม่เหมาะกับเขา แต่แนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้ Constructivism ดังกล่าวข้างต้น มีความเหมาะสมสำหรับนำมาใช้กับเด็กปัญญาเลิศได้ดี
การที่เด็กจะมีปัญญาเลิศไม่ใช่เกิดจากปัจจัยกรรมพันธุ์เพียงอย่างเดียว แต่มีวิธีที่จะสร้างหรือพัฒนาเด็กที่มีพรสวรรค์ปัญญาเลิศให้พัฒนาตนเอง โดยการให้เขามีประสบการณ์ที่หลากหลายรูปแบบและในฐานะที่เป็นพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตของลูก ถ้าเราเป็นตัวอย่างของคนที่ช่างซักช่างถามหรือคนที่ชอบพัฒนาตนเอง เด็กจะเห็นตัวอย่างจากเราและเรียนรู้ตลอดเวลา ฉะนั้นเราจึงต้องเป็นรูปแบบของการเรียนรู้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร นวนิยาย รวมทั้งเขียนจดหมาย บทความ โน้ต ใช้คอมพิวเตอร์ เดินทาง และพูดถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้มา ยิ่งถ้าเราแสดงให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่างว่าเราอยากเรียนรู้ และให้ลูกรู้ว่าความต้องการอยากเรียนรู้อย่างไม่หยุดหย่อนจะเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จในวันข้างหน้า ก็จะเป็นวิธีกระตุ้นสมองลูกให้มีปัญญาเลิศได้ |